"ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ของ ประวัติศาสตร์ไทย_(พ.ศ._2516–2544)

เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 เป็นการปฏิวัติการเมืองไทย เป็นครั้งแรกที่ชนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีนักศึกษาเป็นผู้นำคัดค้านคณะผู้ยึดอำนาจปกครอง และดูเหมือนได้รับความเห็นชอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หัวหน้ารัฐบาลทหารถูกบีบให้ลาออก ทั้งหมดลี้ภัยไปยังสหรัฐไม่ก็ไต้หวัน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีชนชั้นการเมืองที่สามารถดำเนินการประชาธิปไตยใหม่นี้อย่างราบรื่น ผลการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 ไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดครองเสียงข้างมากในสภา และการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2519 ก็ได้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน นักการเมืองผู้คว่ำหวอด หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และน้องชาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สลับกันครองอำนาจ แต่ไม่สามารถดำเนินการโครงการปฏิรูปที่สอดคล้องกัน ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2517 นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความนิยมคือการเรียกร้องให้ถอนกำลังอเมริกันออกจากประเทศไทย การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในชนบท โดยเป็นพันธมิตรกับปัญญาชนและนักศึกษาในเมือง

เวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518 ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ประชาชนตื่นตระหนก การสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ติดกับชายแดนไทย การเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ลาวอายุ 600 ปี การไหลบ่าของผู้ลี้ภัยจากประเทศลาวและกัมพูชาหันมติมหาชนไปเข้ากับฝ่ายขวา และฝ่ายอนุรักษนิยมคว้าที่นั่งมากขึ้นในการเลือกตั้งปี 2519

ปลายปี 2519 ความเห็นของชนชั้นกลางสายกลางในเมืองหันออกจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ซึ่งมีความเห็นเอียงไปทางฝ่ายซ้ายมากยิ่งขึ้น กองทัพและพรรคการเมืองฝ่ายขวาเริ่มสงครามโฆษณาชวนเชื่อต่อลัทธิเสรีนิยมของนักศึกษาโดยกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์และฆ่านักศึกษาเหล่านี้ผ่านองค์การกึ่งทหารทางการอย่างลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดง

สถานการณ์สุกงอมในเดือนตุลาคม 2519 เมื่อจอมพลถนอม อดีตทรราช เดินทางกลับประเทศไทยโดยจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดประจำราชวงศ์ ความตึงเครียดระหว่างคนงานและเจ้าของโรงงานดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อขบวนการสิทธิพลเมืองมีความเคลื่อนไหวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2516 อุดมการณ์สังคมนิยมและฝ่ายซ้ายได้รับความนิยมในหมู่ปัญญาชนและชนชั้นแรงงาน บรรยากาศการเมืองมีความตึงเครียดมากขึ้น พบศพคนงานถูกแขวนคอในจังหวัดนครปฐมหลังประท้วงเจ้าของโรงงาน

ผู้ประท้วงนักศึกษาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจัดการประท้วงต่อการเสียชีวิตอย่างรุนแรงของคนงานและจัดการแสดงล้อแขวนคอ ซึ่งมีการกล่าวหาว่าคนหนึ่งคล้ายกับมกุฎราชกุมาร วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์บางฉบับ รวมทั้ง บางกอกโพสต์ พิมพ์ภาพถ่ายฉบับดัดแปลงซึ่งแนะว่าผู้ประท้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฝ่ายขวาและอนุรักษนิยมประณามผู้ประท้วง และปลุกปั่นวิธีการรุนแรงเพื่อปราบปราม จนลงเอยด้วยการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย